สถาบันวิจัย NARlabs (National Applied Research Laboratoies:NARlabs)หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีของไต้หวันได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ “ศูนย์เทคโนโลยีไต้หวันในประเทศไทย” หวังช่วยภาคอุตสาหกรรมไต้หวันและไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและยกระดับศักยภาพการแข่งขัน
นายถงเจิ้นหยวน ผู้แทนไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวขณะร่วมพิธีลงนามเอ็มโอยูในฐานะสักขีพยานว่า นักธุรกิจไต้หวันในประเทศไทยใช้ความพยายามและความแน่วแน่ในการบุกเบิกและสร้างฐานธุรกิจในไทยเป็นเวลาหลายสิบปี แสดงให้เห็นถึงสปิริตของชาวไต้หวันที่น่านับถือ ขณะที่สถาบันวิจัย NARlabs ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีของไต้หวัน มีทีมวิจัยที่มีศักยภาพและความสามารถเป็นเลิศ สำหรับสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทยทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยประสานและเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของไทยและไต้หวัน อาศัยเทคโนโลยีระดับสูงมาช่วยยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม ตลอดจนเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยยึดความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
นายหลิวซู่เทียน นายกสมาคมการค้าไทย-ไต้หวันเปิดเผยว่า นักธุรกิจไต้หวันในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากสภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยนไป จำเป็นต้องมีการยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือ การสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่มาพร้อมกับโลกยุคใหม่ การจับมือกับ สถาบันวิจัย NARLabs ในครั้งนี้จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจไต้หวันสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
นางโจวอิ้วหัน รมช.กระทรวงเทคโนโลยีกล่าวว่า สถาบันวิจัย NARlabs มีศูนย์ทดลองและวิจัย ระดับชาติ10 แห่งซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมกว้างมาก โดยหลังจากนายเฉินเหลียงจี รมว.เทคโนโลยีเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และกำหนดให้ปีที่แล้วเป็นปี AI สำหรับปีนี้เป็นปีแห่งการดำเนินการ โดยจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าไปช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรม นำผลการวิจัยไปร่วมมือกับต่างประเทศรวมถึงช่วยเหลือนักธุรกิจไต้หวันในต่างประเทศด้วย
ขณะที่นายหวังหย่งเหอ ผอ.สถาบันวิจัย NARlabs กล่าวว่า สถาบันวิจัย NARlabsก่อตั้งขึ้นในปี 2546 มีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งหน่วยงานวิจัยด้านวิชาการระดับประเทศ และนำผลการวิจัยไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือแม้กระทั่งใช้ผลการวิจัยไปสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ในการเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้ หากจัดตั้งสาขาในประเทศไทยขึ้นได้ จะช่วยให้สามารถร่วมมือกับนักธุรกิจไต้หวันในประเทศไทยได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
แปลและเรียบเรียงโดยอัญชัน ทรงพุทธิ์ ทีมข่าวอาร์ทีไอ